(สถิติ) ค่าคาดหวัง (Expected Value)
ค่าคาดหวัง :: Expected Value
เวลาเจอชื่อภาษาอังกฤษ หรือคำศัพท์อะไรก็ตามที่เราไม่คุ้นหู แล้วมีคนมาอธิบายให้ฟังจนเข้าใจเป็นครั้งแรก เราอาจจะใช้เวลาสักพักว่าก่อนจะยอมรับมัน แต่ก็จะไม่ค่อยมีอาการต่อต้านมากนัก
ศัพท์คำนี้ผมเรียนมันมาด้วยชื่อภาษาไทย ซึ่งเข้าใจว่าคนแปลเอามาจากศัพท์ต้นฉบับภาษาอังกฤษเป๊ะๆ บังเอิญคำว่า “คาดหวัง” มันมีความหมายบางอย่างที่เราใช้ไม่ตรงกับนิยามของคำคำนี้ในวิชาสถิติ มันเลยออกจะฟังขัดหูไปสักหน่อย และต้องการคำอธิบายดีๆว่ามันเกี่ยวกับ “ความคาดหวัง” ได้ยังไง
คาดหวังอะไร คาดหวังทำไม
ที่จริงคำว่า “ค่าคาดหวัง” ก็เป็นอีกเวอร์ชันนึงของการหา “ค่าเฉลี่ย” เพียงแต่เราสามารถใช้หลักการของค่าคาดหวังไปคำนวณอย่างอื่นที่พิเศษกว่าค่าเฉลี่ยธรรมดาๆได้อีก
มันเริ่มมาจากกรณีคล้ายๆแบบนี้…
สมมุติว่าเราไปเล่นเกมท้าพนันกับเพื่อน จะโยนลูกเต๋ากัน กติกาคือ : “ถ้าลูกเต๋าหงายหน้า 6 ขึ้นมา เพื่อนต้องให้ตังค์เรา 6 บาท แต่ถ้าหงายหน้าอื่น เราต้องจ่ายให้เพื่อน 1 บาท” แล้วเล่นไปเรื่อยๆจนกว่าจะเบื่อ เพื่อนก็จะนั่งตัดสินใจว่าจะเล่นดี ไม่เล่นดี คือคิดก่อนว่าถ้าเล่นไปสักพัก ใครจะได้กำไร ใครจะขาดทุน หรือเล่นแล้วเจ๊ากันทั้งสองคน
เพื่อนก็จะคิดว่า ถ้าเล่นไปสัก 6 ครั้ง แล้วลูกเต๋ามันหงายครบทุกหน้าเลย (มาจากสมมุติฐานว่าถ้าเล่นไปเรื่อยๆ ลูกเต๋ามันจะหงายครบทุกหน้า แต่ละหน้าเป็นจำนวนครั้งพอๆกัน) เพื่อนจะต้องจ่ายตังค์เรา 6 บาท (เพราะขึ้นหน้า 6 มาหนึ่งครั้ง) ในขณะที่เราต้องจ่ายเพื่อน 5 บาท (เพราะขึ้นหน้า 1-5 อย่างละครั้ง)… นี่แปลว่าเล่นแค่ 6 ตาเพื่อนก็มีแนวโน้มจะเสียตังค์ 1 บาทให้เราซะแล้ว คิดถัวเฉลี่ยแล้วเล่นหนึ่งตาเหมือนเสียตังค์ไป 1/6 บาทแน่ะ … เพราะอย่างนี้เพื่อนจึงตัดสินใจไม่เล่นเพราะเห็นว่ากติกาของเรามันเอาเปรียบไปหน่อย
จากเกมนี้ 1/6 บาทต่อหนึ่งตา เป็นปริมาณเงินที่เรา “คาดหวัง” ว่าจะได้จากการเล่นพนันเกมนี้กับเพื่อน อันที่จริงไม่มีตาไหนเลยที่เราจะได้เงิน 1/6 บาทพอดีเป๊ะ (เพราะมีแต่ได้ 6 บาทกับเสีย 1 บาท) แต่ถ้าเล่นไปนานๆสักร้อยๆพันๆครั้ง เราจะพบว่าปริมาณเงินที่เราได้รับในหนึ่งตา จะใกล้เคียง “ค่าคาดหวัง” มากขึ้นเรื่อยๆ
ถ้าคุ้นกับคำว่า “ค่าเฉลี่ยถ่วงน้ำหนัก” มาก่อนแล้ว “ค่าคาดหวัง” ในตัวอย่างที่ดูกันไปข้างบนนี้ก็คือสิ่งเดียวกัน มันคือการเฉลี่ยแบบถ่วงน้ำหนักระหว่างค่าตัวเลขที่เราต้องการเฉลี่ย กับความน่าจะเป็นที่จะเกิดค่านั้นๆขึ้น (ต้องการเฉลี่ยจำนวนเงิน 6 กับ -1 บาท โดยที่ 6 มีสิทธิ์จะเกิดขึ้นแค่ 1/6 ส่วน -1 มีสิทธิ์จะเกิดขึ้นได้ตั้ง 5/6) การใช้คำว่าค่าคาดหวัง เป็นการเรียกให้สั้นลงโดยไม่ต้องบอกว่าเอาไปถ่วงน้ำหนักกับอะไร (เพราะหมายถึงถ่วงน้ำหนักกับความน่าจะเป็นที่จะเกิดค่านั้นๆขึ้น โดยอัตโนมัติ)