ปัญหามีไว้แก้ … ไม่ใช่มีไว้แบก

ทำไมผมถึงอยากสอนเลข

ชอบมีคนถามว่า เราเรียนเลขไปทำไมกัน ไอ้การคำนวณ Log, หา det ของเมทริกซ์, หรืออินทิเกรตฟังก์ชันมันเอาไปทำอะไรกินได้จริงๆไหมถ้าเรียนจบไปแล้วไม่ได้เป็นครูสอนเลข

 

ครั้งแรกๆที่โดนถาม… ผมอึ้ง

 

เพราะตลอดชีวิตที่ผ่านมาก่อนหน้านั้น ผมไม่เคยคิดเลย รู้แต่ว่ามันสนุกดี ถ้าเรียนเข้าใจ ทำโจทย์ได้ สอบผ่าน ได้คะแนน ก็พอใจ แล้วก็จบแค่นั้น

 

การสอนคนอื่นทำให้ผมเห็นโลกกว้างขึ้น

อย่างน้อยก็ทำให้ผมรู้ว่าคนเรียนไม่รู้เรื่องเขาคิดยังไง คนที่รู้สึกว่าคณิตศาสตร์ไม่สนุกเขาคิดยังไง

 

เขาไม่ได้คิดแค่ว่ามันยาก สิ่งที่ตามมาแน่ๆคือ “แล้ว ฉัน/ผม/หนู จะเรียนมันไปทำไม”

นั่นสิ ในเมื่อบางคนไม่เห็นจำเป็นจะต้องใช้มัน ยากก็ยาก เรียนไปก็เท่านั้นแหละมั้ง

 

สิ่งที่เกิดขึ้นคือ…

ผมโคตรจะเห็นด้วยเลย

 

มันแปลว่าผมอยากจะเห็นการศึกษาไทยสักวันหนึ่งในอนาคต ที่เด็กม.1 รู้ว่าตัวเองอยากเป็นอะไรในอนาคต และมีวิชาเรียนเป็นตัวเลือกให้เลือกมากกว่าที่จะเลือก “ชมรม” เพียงอย่างเดียว คนที่รู้ว่าตัวเองจะต้อง “ใช้” อะไร จะได้เลือกสิ่งที่ต้องใช้เพื่อมาเรียนจริงๆ

การทำโรงเรียนให้มีวิชาเลือกเยอะไม่ยากหรอก ที่ยากคือ เด็กม.1 ที่ไหนมันจะไปถูกบ่มจนสุกงอมพอที่จะตัดสินใจได้ว่าตัวเองอยากเป็นอะไร ถ้ามันมีกระบวนการบ่มเพาะได้จริง คนที่ทำได้น่าจะเก่งกว่าครูที่สอนเนื้อหาวิชาต่างๆซะอีก

 

ที่เราๆทำกันอยู่ตอนนี้ก็คือ ใครเรียนอะไรไหวก็เรียนไป เรียนไปเรื่อยๆนั่นแหละ จนแม้กระทั่งมีการเลือกเกิดขึ้น หลายคนก็ไม่เคยได้เลือกอะไรที่อยากทำ แต่ต้องเลือกสิ่งที่ “เรียนไหว” แล้วพอจบอะไรมาคุณก็ไปทำสิ่งนั้น

พอใครสักคนชี้นิ้วสั่งว่า เอ็งน่าจะเรียนวิทยาศาสตร์ (เพราะหัวดี หรืออะไรก็ตามแต่) วิชาเลขก็ติดสอยห้อยตามมาด้วย แล้วความซวยก็บังเกิดขึ้นตอนนี้ ในบ้านเมืองที่ยังไม่ค่อยเปิดกว้างเรื่องการเลือก หรือการ “ยอมให้ถอยเพื่อลองใหม่” ใครสักกี่คนกันเชียวที่จะกล้าถอย ก็ต้องจำใจเรียนไปอย่างนั้น จนกว่าจะจบ และตั้งความหวังอยู่ไกลลิบๆว่า “จบแล้วคงไม่ต้องเจอมันอีก”

 

ผมเถียงแทนคนพวกนี้มาตลอดเวลาที่ต้องหารือปัญหาโลกแตกชนิดนี้กับคนที่ไม่ค่อยเห็นด้วย เรื่องย่อๆมีใจความว่ามีเพื่อนผมหลายคนไม่เห็นด้วยกับการ “ติวเพื่อน” ที่ไม่ค่อยพยายามเรียนด้วยตนเองในมหาวิทยาลัย เหตุผลของเพื่อนเหล่านั้นก็คือ “ถ้าคุณไม่พยายามก่อน จะให้เรามาคอยป้อนคุณได้ตลอดเวลายังไงไหว”

ผมคิดอีกแบบหนึ่ง คือมองว่าทำไมบางคนถึงไม่พยายามเรียน ทั้งๆที่เข้ามหาวิทยาลัยได้แล้วด้วย คำตอบก็เหมือนกับตอน ม.ปลายเป๊ะๆคือ เขาไม่ได้เข้ามาเพื่อเรียน เขาเข้ามาเอาวุฒิ ป.ตรีต่างหาก เรียนจบแล้วก็อาจจะกลับไปทำงานที่บ้าน หรือเป็นพนักงานบริษัทอะไรสักอย่างที่ไม่ต้องใช้ความรู้ที่เรียนมา

หรือแม้แต่ผมเองที่เข้าไปเพื่อเรียนคณิตศาสตร์ พอมีใครบางคนที่ชี้นิ้วสั่งว่าผมต้องเรียนชีวะด้วย ผมก็ไม่เคยตั้งใจเรียนชีวะเลย รออยู่ว่าเมื่อไหร่จะมีเพื่อนติวให้เหมือนกัน คิดกลับกันแบบตรงไปตรงมาว่า คนที่จะเลือกเรียนชีวะ มีสักกี่คนที่จะตั้งใจอ่านแคลคูลัส ซึ่งตรงนี้น่าจะเป็นหน้าที่ของใครบางคนที่จะต้องเปิดพื้นที่ติวให้เขาเหมือนกัน

 

และที่โดนใจที่สุดคือ…

ในเมื่อคณิตศาสตร์ (หรือวิชาอะไรก็ตาม) มันสามารถย่อยให้ง่ายก่อนได้ จะมีความจำเป็นอะไรที่คนไม่อยากเรียนจะต้องมานั่งย่อยของยากๆด้วยตนเอง

 

ซึ่งมันน่าจะต้องเป็นหน้าที่ผม (หรือใครสักคน) ที่จะควรจะต้อง ”ช่วยย่อย” ให้คนเหล่านั้นกินคณิตศาสตร์ไปได้จนตลอดรอดฝั่ง นานเท่าที่เขาจำเป็นจะต้องเจอมัน หรือจนกว่าใครจะตายกันไปข้างนึง…

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

%d bloggers like this: